ข้อมูล : เทศกาลศิลปะชุมชน Arts & Community Festival สามแพร่ง Facestreet#2
คำว่า “แพร่ง” เป็นคำใช้เรียกทางแยกเป็นสามทาง เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า “ทางสามแพร่ง” ในกรุงเทพฯ มีทางชนิดนี้มากมาย แต่ที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเห็นจะมีแต่สามแพร่ง -แพร่งภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ เท่านั้น ชื่อของแพร่งทั้งสาม เรียกขานตามพระนามของท่านเจ้าของวัง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณนั้น แต่ละวังจะมีถนนตัดผ่านหน้าวังเชื่อมกับถนนหลักเกิดเป็นแพร่งขึ้น มีการสร้างตึกแถวให้เช่าเพื่อเก็บผลประโยชน์ที่นิยมมากในสมัยนั้น สามแพร่งเป็นย่านพาณิชย์เก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ซุกซ่อนตัวอยู่ในถนนเส้นเล็ก ๆ ใกล้เสาชิงช้าและถนนราชดำเนิน ใครได้มาเยือน จะสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของเมืองเก่าบางกอก อาคารบ้านเรือนที่ยังคงความสวยงามตามสถาปัตยกรรมในอดีต ชุมชนยังรักษาวิถีค้าขายที่คงเอกลักษณ์ ร้านอาหาร ขนมหวาน ที่สืบทอดความอร่อยจากรุ่นสู่รุ่น
แพร่งภูธร
เดิมเป็นที่ตั้งวังของกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสถานีอนามัย “สุขุมาลอนามัย” ซึ่งยังเปิดบริการจวบจนทุกวันนี้ จุดเด่นของแพร่งภูธรในปัจจุบัน คือจตุรัสสวนหย่อม ที่ล้อมรอบด้วยอาคารพาณิชย์ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕-๖
แพร่งนรา
เดิมเป็นที่ตั้งวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์(ต้นราชสกุลวรวรรณ) บางส่วนของตำหนักที่ประทับและผดรงละครเดิมของสมเด็จฯ เป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ส่วนที่เป็นปูนตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ส่วนที่เป็นไม้ฉลุลวดลายสวยงาม โดยรอบเป็นตึกแถวสองชั้น สร้างสมัยรัชกาลที่ ๖ ทำให้ปัจจุบัน ถนนแพร่งนรานับเป็นถนนสายคลาสสิคเส้นหนึ่งของบางกอก
แพร่งสรรพสาตร์
เหลือเพียงซุ้มประตูวังกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ(ต้นราชสกลุทองแถม) ศิลปะแบบยุโรปที่นิยมในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ กรอบประตูซุ้มโค้งประดับแผ่นปูนปั้นที่กึ่งกลางหน้าบันกรุกระจกสี กึ่งกลางเป็นช่องโปร่งตั้งรูปหล่อเทพธิดากรีกชูโคมไฟ
Advertisements